ยินดีต้อนรับ เข้าสู่ Blogger ของนายยุทธนา วรดี 544144042 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555


การออกแบบการเรียนการสอน
ความหมายของการออกแบบการสอน (Instructional Design)
การออกแบบการสอน (Instructional Design) เป็นการนำหลักการทางวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างเป็นระบบเพื่อให้การออกแบบหรือการวางแผนการสอนมีประสิทธิภาพสูงสุด หลักการออกแบบการสอน (Instructional Design) เป็นสิ่งแนะนำ แนวทางสำ หรับครูผู้สอนหรือผู้ออกแบบการสอน (Instructional Designer)ให้ประสบผล สำเร็จในการออกแบบ และรู้แนวทางในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวิจัย และสร้างเสริมประสบการณ์ ในการออกแบบการสอน (Instructional Design) เพื่อนำความรู้ที่มีอยู่อย่างหลากหลายไปสู่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          การออกแบบการสอน (Instructional Design)  เป็นทั้งกระบวนการสำหรับการจัดเตรียมโปรแกรมการสอนอย่างเป็นระบบและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ของบุคคล ทั้งกระบวนการ และหลักการดังกล่าวมาเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบการสอน ซึ่งจะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้
การออกแบบระบบการเรียนการสอน
การออกแบบระบบการเรียนการสอน (Instructional System design) มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional design) การออกแบบและพัฒนาการสอน (Instructional design and development) เป็นต้น ไม่ว่าชื่อจะมีความหลากหลายเพียงใด แต่ชื่อเหล่านั้นก็มากจากต้นตอเดียวกัน คือมาจากแนวคิดในการใช้กระบวนการของวิธีระบบ (system approach)
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับระบบ
.....ในการดำเนินงานใด ๆ ก็ตาม ผู้รับผิดชอบจะต้องคำถึงถึงประสิทธิผล (Effectiveness) และประสิทธิภาพ (efficiency) ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพนั้นมักจะนำแนวคิดของระบบ (system) มาใช้ ทั้งนี้เพราะระบบจะประกอบด้วยวิธีการที่จะทำให้เราได้หลักการและกระบวนการในการทำงานเนื่องจากระบบจะมีกลไกในการปรับปรุง แก้ไข การทำงานในตัวเองของมันเอง โดยการใช้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ทั้งนี้ถ้าเราเข้าใจระบบเราก็สามารถนำแนวความคิดไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ได้



ความหมายของระบบ
.....มีผู้ให้ความหมายขอคำว่า ระบบ” (system) ไว้หลายคน เช่น บานาธี่ (Banathy, 1968) หรือ วอง (Wong, 1971) บานาธี่ ได้ให้ความหมายของคำว่าระบบว่า ระบบ หมายถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้จะร่วมกันทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้ความหมายของระบบตามแนวทางของวองก็จะมีลักษณะแนวทางใกล้เคียงกับของบานาธี่ โดยวองให้ความหมายของระบบวา ระบบ หมายถึง การรวมกลุ่มของส่วนประกอบต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ได้กำหนดไว้จากความหมายข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าระบบจะต้องมี
.....1. องค์ประกอบ
.....2. องค์ประกอบนั้นต้องมีความสัมพันธ์ มีการโต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์กันและ
.....3. ระบบต้องมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมนั้น ๆ

ลักษณะของระบบที่ดี
.....ระบบที่ต้องสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และมีความยั่งยืน (sustainable) การมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ระบบนั้นจะต้องมีลักษณะ 4 ประการคือ
.....1. มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม (interact with environment)
.....2. มีจุดหมายหรือเป้าประสงค์ (purpose)
.....3. มีการรักษาสภาพตนเอง (self – regulation)
.....4. มีการแก้ไขตนเอง (self – correction)
จุดมุ่งหมายหรือเป้าประสงค์
.....ระบบจะต้องมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนแน่นอนสำหรับตัวของมันเอง ระบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ระบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้นก็มีจุดมุ่งหมายสำหรับตัวของระบบเองอย่างชัดเจนว่า เพื่อรักษาสภาพการมีชีวิตไว้ให้ดีที่สุดจุดมุ่งหมายนี้ดูออกจะไม่เด่นชัดสำหรับเรานักเพราะเราไม่ใช่ผู้คิดสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาเอง ลองดูตัวอย่างอีกตัวอย่าง คือ ระบบของรถยนต์โดยสารส่วนตัว ระบบดังกล่าวเป็นระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือ เป็นยานพาหนะที่อำนวยความสะดวกสบายแก่มนุษย์ในเรื่องของความรวดเร็ว การทุ่นแรง

ระบบเปิดและระบบปิด
.....มองไปรอบ ๆ ตัวเราแล้วจะเห็นว่าประกอบไปด้วยระบบต่างๆ มากมายทั้งที่เป็นระบบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น ระบบสุริยะจักรวาล ระบบลมบกลมทะเล ระบบหมุนเวียนโลหิต หรือระบบที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมา เช่น ระบบสังคม ระบบการศึกษา ระบบการเงิน ระบบการธนาคาร ระบบไฟฟ้าของรถยนต์ ฯลฯ ระบบต่าง ๆ ตามที่กล่าวมานี้สามารถที่จำแนกออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ 2 ชนิด คือ ระบบเปิด (open system) และระบบปิด (closed system)
....ระบบเปิด คือ ระบบที่รับปัจจัยนำเข้า (Input) จากสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันก็ส่งผลผลิต (output) กลับไปให้สิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง (Carlisle, 1976) ตัวอย่างระบบเปิดนั้นจะหาดูได้ทั่ว ๆ ไป เช่น ระบบสังคม ระบบการศึกษา ระบบการสูบฉีดโลหิต ระบบหายใจ ฯลฯ
      ระบบปิด คือ ระบบที่มิได้รับปัจจัยนำเข้าจากสิ่งแวดล้อม หรือรับปัจจัยนำเข้าจากสิ่งแวดล้อม หรือรับปัจจัยนำเข้าจากสิ่งแวดล้อมน้อยมาก แต่ขณะเดียวกันระบบปิดจะผลิตเอาท์พุดให้กับสิ่งแวดล้อมได้ด้วย ตัวอย่างระบบปิดที่เห็นง่ายๆ ก็คือ ระบบถ่านไฟฉาย หรือระบบแบตเตอรี่ต่าง ๆ ตัวถ่านไฟฉายหรือแบตเตอรี่นั้นถูกสร้างขึ้นมาให้มีพลังงานไฟฟ้าสะสมอยู่ในตัว ภายในแบตเตอรี่หรือถ่านฉายก็มีองค์ประกอบย่อย ๆ ที่เรียกว่า ระบบย่อยอีกหลายระบบ ระบบย่อยแต่ละอย่างนี้ทำงานสัมพันธ์กันอย่างดี จนสามารถให้พลังงานไฟฟ้าออกมาได้ โดยที่ไม่ได้รับปัจจัยนำเข้าใหม่เข้าไปเลย การทำงานในลักษณะหรือสภาวะเช่นนี้ เบตเตอรี่จะมีลักษณะเป็นระบบปิด คือไม่ได้รับพลังงานจากสิ่งแวดล้อมภายนอกเลย ระบบปิดนี้ปกติจะมีอายุสั้นกว่าระบบเปิด เนื่องจากระบบปิดนั้นทำหน้าที่เพียงแต่เป็น ผู้ให้เท่านั้น ในตัวอย่างแบตเตอรี่นั้น ถ้าเขาใช้ไฟไปนานๆ แบตเตอรี่ก็จะหมดไฟ และระบบแบตเตอรี่ดังกล่าวก็จะหมดสภาพไป ถ้าจะทำให้แบตเตอรี่สามารถทำงานได้นานขึ้น ก็ต้องทำให้การทำงานของแบตเตอรี่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นระบบเปิดขึ้นมา คือสามารถรับพลังงานจากภายนอกได้ พอเป็นระบบเปิดแล้วแบตเตอรี่ดังกล่าวก็สามารถที่จะมีสภาพหรือมีอายุนานขึ้น
.....ระบบที่จะกล่าวถึงในที่นี้จะจำกัดอยู่แต่ระบบเปิด (Open system) เท่านั้น ทั้งนี้เนื่องจากระบบเปิดคือระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้งาน เราสามารถวิเคราะห์ สามารถสร้างและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมันได อีกทั้งเป็นระบบที่มีความยีนยงอีกด้วย

ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีระบบ
.....เรื่องของวิธีระบบ (System approach) นั้น ได้มีการกล่าวถึงอ้างอิงกันมาก จริง ๆ แล้วเกือบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดตามธรรมชาติจะถือว่าประกอบด้วยระบบอยู่ทั้งนั้น จักรวาลจัดเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดที่เรารู้จัก มนุษย์เป็นระบบย่อยลงมา ระบบแต่ละระบบมักจะประกอบด้วยระบบย่อย (subsystem) และแต่ละระบบย่อยก็ยังอาจจะประกอบด้วยระบบย่อยลงไปอีก

วิธีระบบ (System approach)
.....วิธีระบบ คือแนวทางในการพิจารณาและแก้ไขปัญหา ซึ่งแนวทางดังกล่าวถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด (Allen, Joseph and Lientz, Bennet p. 1978)
.....ในปัจจุบันจะพบว่า วิธีระบบนั้นถูกนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง วิธีระบบจะเป็นตัวจัดโครงร่าง (Skeleton) และกรอบของงานเพื่อให้ง่ายต่อการที่จะนำเทคนิค วิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ มาใช้ การทำงานของวิธีระบบจะเป็นการทำงานตามขั้นตอน (step by step) ตามแนวของตรรกศาสตร์
.....ผู้ใช้วิธีระบบจะต้องเชื่อว่า ระบบประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน (interrelated parts) และเชื่อว่าประสิทธิผล (effectiveness) ของระบบนั้นจะต้องดูจากผลการทำงานของระบบมิได้ดูจากการทำงานของระบบย่อยแต่ละระบบ

จากวิธีระบบสู่ระบบการเรียนการสอน
....แนวคิดของวิธีระบบ ถือได้ว่าเป็นรากฐานของระบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่า ระบบจะประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กัน และระบบสามารถปรับปรุง ปรับทิศทางของตนเองได้ จากการตรวจสอบจากข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) วิธีระบบถูกนำมาใช้ในระบบการศึกษาและได้รับการพัฒนา ปรับปรุงขึ้นเป็นลำดับ โดยได้มีผู้พัฒนารูปแบบการสอน (Model) ขึ้นหลากหลายรูปแบบ รูปแบบเหล่านี้เรียกชื่อว่า ระบบการออกแบบการเรียนการสอน (instructional design systems) หรือเรียกสั้นลงไปอีกว่า การออกแบบการเรียนการสอน (instructional design) การออกแบบการเรียนการสอนจะประกอบด้วยองค์ประกอบที่เป็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่อาศัยหลักการและทฤษฎีสนับสนุนจากองค์ความรู้และการวิจัยทางการศึกษาจนถึงปัจจุบันนักการศึกษาได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน (Instructional model) ขึ้นมากกว่า 50 รูปแบบ รูปแบบเหล่านี้ได้รับการตรวจสอบ ทดสอบ และการปรับปรุงมาแล้วก่อนที่จะเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ที่เชื่อได้ว่า ถ้านำไปใช้แล้วจะทำให้ประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการสอนอย่างสูงสุดประสิทธิผลและประสิทธิภาพนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่ว่าจะใช้กับจุดมุ่งหมายในการสอนลักษณะใด ผู้เรียนที่แตกต่างกันเพียงไร สถานการณ์สิ่งแวดล้อมหรือสื่อการสอนที่แตกต่างกันออกไป
.....รูปแบบอันหลากหลายนี้จะมีความแตกต่างกันออกไปในรายละเอียด แต่เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจะเห็นว่า ความแตกต่างนั้นมีไม่มากนัก รูปแบบการเรียนการสอนนี้สามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องของการเรียนการสอนโดยตรง เช่น สามารถนำไปใช้ในโรงงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ใช้ในโรงพยาบาล สถานีตำรวจ ธนาคารหรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการให้ความรู้ การเปลี่ยนทัศนคติ หรือการฝึกทักษะต่าง ๆ

การออกแบบการเรียนการสอนไม่ใช่การสร้างระบบใหม่
.....กิจกรรมการออกแบบการเรียนการสอน (instructional design) นั้นไม่ใช่กิจกรรมการออกแบบและสร้างระบบการสอนขึ้นใหม่ แต่เป็นกระบวนการนำรูปแบบ (model) ที่มีผู้คิดสร้างไว้แล้วมาใช้ตามขั้นตอน (step) ต่าง ๆ ที่เจ้าของรูปแบบนั้นกำหนดไว้อาจจะมีคำถามว่า ถ้าไม่ได้ออกแบบระบบเอง ทำไมจึงใช้คำว่า ออกแบบการเรียนการสอนคำตอบที่ชัดเจนก็คือ ผู้ใช้รูปแบบ (model) ของการสอนนั้นจำเป็นต้องออกแบบตามขั้นตอนต่าง ๆ ของรูปแบบนั้น ๆ ทั้งนี้เนื่องจากรูปแบบ (model) ที่มีผู้สร้างไว้ให้นั้นเป็นเพียงกรอบและแนวทางในการดำเนินงานเท่านั้น รายละเอียดต่างๆ ภายในขั้นตอนจะแตกต่างกันออกไปตามสภาพปัญหา จุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน ลักษณะของผู้เรียน และเงื่อนไขต่าง ๆ

การออกแบบการเรียนการสอน (Instructional design)
.....จากที่กล่าวมาในตอนต้น ๆ ทำให้ทราบความเป็นมาของระบบการสอนรวมถึงคำว่า ระบบว่าเป็นอย่างไร และปรับเปลี่ยนดัดแปลงการออกแบบการเรียนการสอนด้วยเหตุใด ต่อไปนี้จะกล่าวถึงรายละเอียดของการออกแบบการเรียนการสอน โดยจะเริ่มจากความเป็นมา ความหมาย ระดับของการออกแบ องค์ประกอบ รูปแบบของการออกแบบการเรียนการสอน และสุดท้ายคือ กระบวนการขั้นตอนการออกแบบการเรียนการสอน

ความเป็นมาของการออกแบบการเรียนการสอน
.....การออกแบบการเรียนการสอน (ID) เกิดจากการใช้กระบวนการของวิธีระบบ (system approach) ในการฝึกทหารของกองทัพบกอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีความเชื่อว่า การเรียนรู้ใด ๆ ไม่ควรจะเกิดอย่างบังเอิญ แต่ควรเกิดจากการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม มีกระบวนการ มีขั้นตอน และสามารถวัดผลจากการเรียนรู้ได้อย่างชัดเจน
.....ในการออกแบบการเรียนการสอนต้องอาศัยความรู้ศาสตร์ สาขาต่าง ๆ อันได้แก่ จิตวิทยาการศึกษา การสื่อความหมาย การศึกษาศาสตร์ทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาร่วม

ความหมายของการออกแบบการเรียนการสอน
.....การออกแบบการเรียนการสอน คือ ศาสตร์ (Science) ในการกำหนดรายละเอียด รายการต่าง ๆ เพื่อพัฒนา การประเมินและการทำนุบำรุงรักษาให้คงไว้ของสภาวะต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ ทั้งในเนื้อหาจำนวนมาก หรือเนื้อหาสั้น ๆ (Richey, 1986)

ปัญหาในระบบการเรียนการสอน
....เป้าหมายหลักของครูหรือนักฝึกอบรมในการสอน คือการช่วยให้ผู้เขียนหรือผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้เรียนรู้ และในการช่วยให้เกิดการเรียนรู้นี้มีปัญหาหลัก ๆ อยู่หลายประการที่ผู้ออกแบบการเรียนการสอนจะต้องตระหนักและพยายามหลีกเลี่ยง ปัญหาดังกล่าวคือ
.....1. ปัญหาด้านทิศทาง (Direction)
.....2. ปัญหาด้านการวัดผล (Evaluation)
.....3. ปัญหาด้านเนื้อหาและการลำดับเนื้อหา (Content and Sequence)
.....4. ปัญหาด้านวิธีการ (Method)
.....5. ปัญหาข้อจำกัดต่าง ๆ (Constraint)

ปัญหาด้านทิศทาง
.....ปัญหาด้านทิศทางของผู้เรียนก็คือ ผู้เรียนไม่ทราบว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ไม่รู้ว่าจะต้องเรียนอะไรต้องสนใจจุดไหน สรุปแล้วพูดไว้ว่าเป็นปัญหาด้านจุดมุ่งหมาย
ปัญหาด้านการวัดผล
.....ปัญหาการวัดผลนี้จะเกิดขึ้นกับทั้งผู้สอนและผู้เรียน ผู้สอนจะมีปัญหา เช่น จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนของตนเกิดการเรียนรู้หรือไม่ จะรู้ได้อย่างไรว่าวิธีการที่ตนใช้อยู่นั้นใช้ได้ผลดี ถ้าจะปรับปรุงเนื้อหาที่สอนจะปรับปรุงตรงไหน จะให้คะแนนอย่างยุติธรรมได้อย่างไร
ปัญหาของผู้เรียนเกี่ยวกับการวัดผลอาจเป็น ฉันเรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งนี้ ข้อสอบยากเกินไป ข้อสอบกำกวม อื่น ๆ
ปัญหาด้านเนื้อหา และการลำดับเนื้อหา
.....ปัญหานี้เกิดขึ้นกับครูและผู้เรียนเช่นเดี่ยวกัน ในส่วนของครูอาจจะสอนเนื้อหาที่ไม่ต่อเนื่องกัน เนื้อหายากเกินไป เนื้อหาไม่ตรงกับจุดมุ่งหมาย เนื้อหาไม่สัมพันธ์กัน และอื่น ๆ อีกมากมาย ในส่วนของผู้เรียนก็จะเกิดปัญหาเช่นเดี่ยวกับที่กล่าวข้างต้นอันเป็นผลมาจากครู อาจเป็นการสอนหรือวิธีการสอนของครูทำให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย ไม่อยากเข้าห้องเรียน มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนสิ่งนั้น ๆ หรือปัญหาการสอนที่ไม่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้ เช่น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าให้ผู้เรียนสามารถใช้กล้องถ่ายวิดีโอได้อย่างชำนาญ แต่วิธีสอนกลับบรรยายให้ฟังเฉย ๆ และผู้เรียนไม่มีสิทธิจับกล้องเลย เป็นต้น
ปัญหาข้อจำจัดต่าง ๆ
.....ในการสอนหรือการฝึกอบรมนั้นต้องใช้แหล่งทรัพยากร 3 ลักษณะ คือ บุคลากร ครูผู้สอน และสถาบันต่าง ๆ บุคลาการที่ว่านี้อาจจะเป็นวิทยากร ผู้ช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น พนักงานพิมพ์ ผู้ควบคุมเครื่องไม้เครื่องมือ หรืออื่น ๆ
.....สถาบันต่าง ๆ หมายถึง แหล่งที่เป็นความรู้ แหล่งที่จะให้ความร่วมมือสนับสนุนต่าง ๆ อาจเป็นห้องสมุด หน่วยงานต่าง ๆ เป็นต้น

องค์ประกกอบของการออกแบบการเรียนการสอน
.....ดังได้กล่าวข้างต้นว่า การออกแบบการเรียนการสอนให้หลักการแนวทางของระบบ ดังนั้นในการออกแบบการเรียนการสอนจึงประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ได้ และในกระบวนการออกแบบการเรียนการสอนก็จะมีกลไกในการปรับปรุงแก้ไขตัวเอง อันได้แก่ กระบวนการใช้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) จากการประเมินผลที่เรียกว่า การประเมินผลเพื่อการปรับปรุง (formative evaluation)
เนื่องจากมีรูปแบบ (Model) สำหรับนำไปใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนอยู่มากมายจึงมีความหลากหลายในองค์ประกอบในรูปแบบนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม รูปแบบการเรียนการสอนใด ๆ ก็จะยึดแนวทางของรูปแบบดั้งเดิม (generic model)


รูปแบบดั้งเดิม (Generic model)
.....1. การวิเคราะห์ (Analysis)
.....2. การออกแบบ (Design)
.....3. การพัฒนา (Development)
.....4. การนำไปใช้ (Implementation)
.....5. การประเมินผล (Evaluation)
.....จากรูปแบบดังเดิม (Generic model) นี้จะมีผู้รู้ต่าง ๆ นำไปสังเคราะห์เป็นรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ตามความเชื่อความต้องการของตน

รูปแบบต่าง ๆ ของการออกแบบการเรียนการสอน
....ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างรูปแบบการเรียนการสอนที่มีผู้คิดสร้างขึ้นเพื่อให้เห็นองค์ประกอบ รายละเอียดโดยสังเขปและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ

รูปแบบการสอนของดิคค์และคาเรย์ (Dick and Carey model)
.....รูปแบบการสอน (Model) ของดิคค์และคาเรย์ ประกอบด้วยองค์ประกอบด้วย 10 ขั้นด้วยกัน คือ
.........1. การกำหนดเป้าหมายของการเรียนการสอน (Identify Instructional Goals)
.........2. ดำเนินการวิเคราะห์การเรียนการสอน (Conduct Instructional Analysis)
.........3. กำหนดพฤติกรรมก่อนเรียนและลักษณะผู้เรียน (Identify Entry Behaviors, Characteristics)
.........4. เขียนจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม (Write Performance Objective)
.........5. พัฒนาข้อสอบอิงเกณฑ์ (Develop Criterion - Referenced Test Items)
.........6. พัฒนายุทธวิธีการสอน (Develop Instructional Strategies)
.........7. พัฒนาและเลือกวัสดุการเรียนการสอน (Develop and Select Instructional Materials)
.........8. ออกแบบและดำเนินการประเมินเพื่อการปรับปรุง (Design and Conduct Formative Evaluation)
.........9. การปรับปรุงการสอน (Revise Instruction)
.........10. การออกแบบและดำเนินการประเมินระบบการสอน (Design and Conduct Summative E valuation)
คำอธิบาย: https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEjexMAyRZDqrDWSWauQYzZIHknJeNw7EBbiILZJc9RP8zKjBkEr0igdkjbsmJQRipRxu7IGdFQ-KHEBa_jmdxxLpFeJuXclevqRBLvjhJYdmb_aC88I4_wwIpE5_BnmM6hQ2tg7tNRi8_s/s320/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%871.JPG
........ระบบการสอนของเกอร์ลาชและอีลาย (Ger lach and Ely Model) เกอร์ลาชและอีลายเสนอรูปแบบการออกแบบการสอนประกอบด้วยองค์ประกอบ 10 อย่างด้วยกันคือ
............1. การกำหนด เป็นการกำหนดว่าต้องการให้ผู้เรียนรู้อะไร แค่ไหน อย่างไร
............2. การกำหนดเนื้อหา (Specify Content) เป็นการกำหนดว่าผู้เรียนต้องเรียนอะไรบ้างในอันที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
............3. การวิเคราะห์ประสบการณ์เดิมของผู้เรียน (Analyze Learner Background Knowledge) เพื่อทราบความสามารถพื้นฐานของผู้เรียน
............4. เลือกวิธีสอน (Select Teaching Method) ทำการเลือกวิธีสอนให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย
............5. กำหนดขนาดของกลุ่ม (Determine Group Size) เลือกว่าจะสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือกลุ่มใหญ่อย่างไร
............6. กำหนดเวลา (Time Allocation) กำหนดว่าจะใช้เวลาในการสอนมากน้อยเพียงใด
............7. กำหนดสถานที่ เครื่องอำนวยความสะดวก (Specify Setting and Facilities) กำหนดว่าจะสอนที่ไหน ต้องเตรียมอะไรบ้าง
............8. เลือกแหล่งวิชาการ (Select Learning Resources) ต้องใช้สื่ออะไร อย่างไร
............9. ประเมินผล (Evaluation) ดูว่าการสอนเป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือไม่
............10. วิเคราะห์ข้อมูลป้อนกลับเพื่อการปรับปรุงแก้ไข (Analyze Feedback for Revision) เป็นการวิเคราะห์ว่าถ้าการสอนไม่ได้ผลตามจุดมุ่งหมายจะทำการปรับปรุงแก้ไขตรงไหนอย่างไร
คำอธิบาย: https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEgOWcy0vC4fw54Oz4TpVMpNi64Bz0riIP25UHPBmPHTmvVcGZvBVGXN8r_eVYagBkX7MxQMuc58BS9cGORJ1srii3tyCLmBVcvc199XyDJHCROyrV3bM7eO-p_w-vWrEWgbv-XnZZ-iJHY/s320/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%872.JPG
....จากตัวอย่างรูปแบบระบบการสอนที่ยกมาจะเห็นว่าจะอยู่ในกรอบของรูปแบบดังเดิม (Generic model) ทั้งสิ้น

การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis)
.....การวิเคราะห์ระบบ คือ กระบวนการศึกษาขอบข่าย (Network) ของปฏิสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบ เพื่อจะเสนอแนวทางในการดำเนินการเพื่อปรับปรุงการทำงานของระบบนั้น ๆ (Semprevivo , 1982)
.....ในการออกแบบการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการสอนของใครก็ตาม จะมีกลไกหรือมี ข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ระบบอยู่แล้ว ข้อมูลดังกล่าวคือ ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback) ต่าง ๆ การที่ระบบการสอนมีองค์ประกอบให้เห็นอย่างชัดเจนและแสดงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบ ต่าง ๆ อย่างชัดเจน จะช่วยให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ว่าปัญหาระบบเกิดจากอะไร
.....การดำเนินการวิเคราะห์ระบบในรูปแบบ (Model) การสอนต่าง ๆ นั้นทำได้ง่ายเพราะมีผู้จัดสร้างกลไกและจัดหาข้อมูลเตรียมไว้ให้แล้ว แต่ถ้าจะดำเนินการวิเคราะห์ระบบอื่นใดที่นอกเหนือไปจากนี้แล้วกระบวนการคิดวิเคราะห์ก็จะต้องมีรายละเอียดและกระบวนการเพิ่มมากขึ้น ในที่นี้จะขอเสนอแนวทางในการวิเคราะห์ระบบสำหรับระบบโดยทั่ว ๆ ไปที่ไม่ใช่ระบบการเรียนการสอน ในการวิเคราะห์ระบบจะประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เป็นวงจรชีวิต (Life cycle) ดังต่อไปนี้ คือ
............1. การกำหนดปัญหา (Problem definition)
............2. การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล (Data collection and analysis)
............3. การวิเคราะห์ทางเลือกของระบบ (Analysis of system alternatives)
............4. ศึกษาความเป็นไปได้ของทางเลือก (Determination 0f feasibility)
............5. การพัฒนาแนวคิดเพื่อเสนอขอความคิดเห็น (Development 0f the systems proposal)
............6. การพัฒนาและทดลองใช้ต้นแบบ (Pilot of prototype systems development)
............7. การออกแบบระบบ (System design)
............8. การพัฒนาโปรแกรม (Program development)
............9. การนำระบบใหม่เข้าไปใช้ (System implementation)
............10. การตรวจสอบและการประเมินระบบ (Systems implementation)

.....กิจกรรมทั้ง 10 นี้ ปกติแล้วจะไม่สามารถดำเนินการในลักษณะที่แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดได้
เพราะในลักษณะการทำงานจริง กิจกรรมเหล่านี้จะมี่ความเกี่ยวโยงกันจนแยกไม่ออก ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า กระบวนการวิเคราะห์ระบบทั้ง 10 นี้ ข้อที่กล่าวมาข้างต้นใช้สำหรับการ วิเคราะห์ระบบที่นอกเหนือจากระบบการเรียนการสอน ทั้งนี้เนื่องจากระบบการเรียนการสอนนั้นได้สร้างกลไกและข้อมูลสำหรับตรวจสอบแก้ไขระบบอยู่ในตัวแล้ว วิธีการเชิงระบบในการออกแบบการเรียนการสอน โดย ผศ.ดร.รสสุคนธ์ มกรมณี
.....ในการดำเนินภารกิจการสอน ครูจะต้องมีการวางแผนจัดการเรียนรู้และตั้งวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้นั้นๆ ให้ดีเสียก่อน เพื่อเป็นข้อมูลในเตรียมเนื้อหาบทเรียนและวิธีการสอนที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์คือการที่ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การจัดระบบการเรียนการสอนคือกระบวนการที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้สอนว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ และถ้าหากมีปัญหาหรือความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็จะสามารถแก้ไขได้ตรงจุด การเรียนการสอนจึงมีการพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายหลักของการจัดระบบการเรียนการสอนมี 2 ประการคือ
..........1. เพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนให้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน โดยใช้วิธีการต่างๆ ในการเอื้ออำนวยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
..........2. เพื่อออกแบบระบบการเรียนการสอน โดยใช้วิธีการที่เป็นระบบในการออกแบบ การวางแผน การนำไปใช้ และการประเมินกระบวนการทั้งหมดของระบบการสอนนั้น
ระบบการเรียนการสอนต้องอาศัยองค์ประกอบหลายส่วนมาร่วมกันทำงานให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม
องค์ประกอบพื้นฐานของระบบการเรียนการสอน ซึ่งขาดไม่ได้มี 4 ประการ (กิดานันท์ มลิทอง, 2540) คือ
..........1. ผู้เรียน ต้องมีการพิจารณาลักษณะของผู้เรียนเพื่อการออกแบบกิจกรรมหรือโปรแกรมการเรียนการสอนที่เหมาะสม
..........2. วัตถุประสงค์ ต้องมีการตั้งวัตถุประสงค์ว่า ต้องการจะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใดบ้างในการสอนนั้น
..........3. วิธีการและกิจกรรม ต้องมีการกำหนดวิธีการและกิจกรรมในการเรียนรู้ว่าควรมีอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ที่ดีที่สุดได้
..........4. การประเมิน ต้องมีการกำหนดวิธีการประเมินเพื่อตัดสินว่าการเรียนรู้นั้นประสบผลตามที่ตั้งจุดมุ่งหมายไว้หรือไม่
.....เมื่อการออกแบบระบบการเรียนการสอน (instructional system design) เป็นที่ยอมรับในหมู่นักวิชาการว่าเป็นการพัฒนาการเรียนการสอน รูปแบบสำหรับการออกแบบการเรียนการสอน (instructional design model) ที่เป็นพื้นฐานทั่วไปคือ ADDIE ซึ่งมาจากอักษรตัวแรกของขั้นตอนในการออกแบบ คือ A-analyze การวิเคราะห์ความจำเป็นหรือปัญหาอุปสรรค ตัดสินใจว่าจะต้องเรียนรู้เรื่องอะไร D-design การกำหนดว่าจะเรียนรู้อย่างไร ระบุกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล เลือกวิธีการและสื่อ D-develop การสร้างและผลิตเครื่องมือต่างๆ ตรวจสอบและปรับปรุง I-implement การนำแผนหรือโครงการไปปฏิบัติ E-evaluate การพิจารณาความเหมาะสมของการเรียนการสอน ประเมินทุกอย่างที่ผ่านมา ปรับปรุงเพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป (Braxton, Bronico, & Looms, 2000; Malachowski, 2002) อย่างไรก็ตาม มีนักการศึกษาหลายท่าน คิดรูปแบบ/แบบจำลองระบบการสอนขึ้นมาอย่างหลากหลาย เพื่อให้สามารถเลือกใช้เป็นแนวปฏิบัติในการออกแบบการเรียนการสอน การจัดเรียนการสอน หรือการแก้ปัญหาการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นได้ตามความต้องการของผู้ใช้ รูปแบบที่มีการอ้างถึงอย่างแพร่หลาย มีดังนี้คือ
.....Klausmeir (1971)ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอนให้มี 7 องค์ประกอบ
.........1) กำหนดจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน
.........2) เตรียมความพร้อมของนักเรียน
.........3) จัดเนื้อหาวิชา วัสดุ อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ
.........4) จัดกิจกรรมการเรียนการสอน
.........5) ดำเนินการสอน
.........6) วัดสัมฤทธิ์ผลของนักเรียน
.........7) การจัดและประเมินผลการเรียนการสอน
.....Gerlach & Ely (1980) ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอน 10 ขั้นตอน ซึ่งได้รับการอ้างถึงในวงการศึกษาไทยอย่างแพร่หลาย ประกอบด้วย
.....1) การกำหนดวัตถุประสงค์ โดยควรจะเป็นวัตถุประสงค์เฉพาะหรือวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม ที่ผู้เรียนสามารถปฏิบัติและผู้สอนสามารถวัดหรือสังเกตได้
.....2) การกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์
.....3) การประเมินผลพฤติกรรมเบื้องต้นของผู้เรียนก่อนการเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการที่จะจัดการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม
.....4) การกำหนดกลยุทธ์ของวิธีการสอน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบคือ การสอนแบบเตรียมเนื้อหาความรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยสมบูรณ์ทั้งหมด และการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้
.....5) การจัดแบ่งกลุ่มผู้เรียน เหมาะสมกับวิธีสอน
.....6) การกำหนดเวลาเรียน
.....7) การจัดสถานที่เรียน ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ขนาด คือ ห้องเรียนขนาดใหญ่ สามารถสอนได้ครั้งละ 50-300 คน ห้องเรียนขนาดเล็ก เพื่อใช้ในการเรียนการสอนแบบกลุ่มย่อย และห้องเรียนแบบเสรีหรืออิสระ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนตามลำพังแบบรายบุคคล
.....8) การเลือกสรรทรัพยากรหรือสื่อการสอน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 5 ประเภท คือ สื่อบุคคลและของจริง สื่อวัสดุและอุปกรณ์เครื่องฉาย สื่อวัสดุและอุปกรณ์เครื่องเสียง สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อวัสดุที่ใช้แสดงต่างๆ
.....9) การประเมินผลพฤติกรรมของผู้เรียนที่เกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกันเอง ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน หรือระหว่างผู้เรียนกับสื่อการสอน
.....10) การวิเคราะห์ข้อมูลย้อนกลับเพื่อพิจารณาว่าการดำเนินงานตั้งแต่ต้นมานั้นมีข้อบกพร่องอะไรบ้างในระบบ หรือมีปัญหาประการใดบ้าง สำหรับเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขระบบ การสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
.....Brown, Lewis & Harcleroad (1985) ออกแบบวิธีที่จัดให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอน โดยการพิจารณาถึงแนวทางและวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อที่ผู้สอนจะได้สามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน โดยแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบ คือ
.....1) เป้าหมาย
.....2) วัตถุประสงค์และเนื้อหา
.....3) สภาพการณ์
.....4) ผลลัพธ์
.....Knirk & Gustafson(1986) ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการสอนให้มี 3 ส่วน โดยแต่ละส่วนมีองค์ประกอบย่อยที่ดำเนินงานสัมพันธ์กัน คือ
.....1) การกำหนดปัญหา ประกอบด้วย เป้าหมายการเรียนการสอน
.........- ระบุปัญหา
.........- ระดับทักษะแรกเริ่มของผู้เรียน
.........- การจัดระบบ
.....2) การ ออกแบบ ประกอบด้วย พัฒนาวัตถุประสงค์
.........- กำหนดกลยุทธ์
.........- กำหนดสื่อ
.....3) การพัฒนา ประกอบด้วย เลือกวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนา
.........- วิเคราะห์ผลลัพธ์
.........- ทบทวนอุปกรณ์เครื่องมือ
.........- นำไปใช้
.....Hannafin & Peck (1988) ออกแบบวิธีระบบที่มีองค์ประกอบในการดำเนินงาน 3 ระยะคือ
.....1) การหาความจำเป็น
.....2) การออกแบบ
.....3) การพัฒนาและนำไปใช้ ทั้งนี้ทุกระยะ จะต้องมีการประเมินและปรับปรุง
.....Tripp & Bichelmeyer(1990) เสนอรูปแบบที่เรียกว่าการสร้างต้นแบบฉับพลัน (rapid prototyping) ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการ 4 ขั้น คือ
.....1) การหาความจำเป็น วิเคราะห์เนื้อหา และกำหนดวัตถุประสงค์
.....2) การสร้างต้นแบบหรือการออกแบบ
.....3) การนำต้นแบบไปใช้หรือการทำวิจัย
.....4) การวางระบบและดูแลรักษาระบบ สำหรับรูปแบบนี้เหมาะสำหรับนักออกแบบการเรียนการสอนที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์เดิมมากจึงจะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้จะมีคำว่าฉับพลันในชื่อของรูปแบบ แต่การดำเนินงานตามรูปแบบนี้จะใช้เวลาค่อนข้างมาก เพราะเป็นรูปแบบขั้นสูงที่ผู้ใช้ส่วนใหญ่คือนักออกแบบที่ต้องทำวิจัย
.....Gagné, Briggs, & Wager(1992). เสนอรูปแบบสำหรับออกแบบการเรียนการสอนที่เรียกชื่อว่า Gagné & Briggs model ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในวงการศึกษาไทยมานานกว่า 30 ปี (Gagné & Briggs, 1974) รูปแบบนี้จะใช้หลังจากมีการจัดประเภทของผลลัพธ์การเรียนรู้เรียบร้อยแล้ว โดยประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ สำหรับการจัดระบบสภาพการณ์การเรียนการสอนของแต่ละผลลัพธ์ การเรียนรู้ ซึ่งมีการดำเนินงาน 9 ขั้นคือ
.....1) สร้างความสนใจ
.....2) ฟื้นฟูข้อมูลที่มีอยู่เดิม
.....3) บอก วัตถุประสงค์แก่ผู้เรียน
.....4) นำเสนอวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นสิ่งเร้า
.....5) แนะแนวทางการเรียนรู้
.....6) ให้ผู้เรียนแสดงความสามารถ
.....7) ให้ข้อมูลย้อนกลับ
.....8) ประเมินการปฏิบัติของผู้เรียน
.....9) เพิ่มความคงทนในการเรียนรู้
.....Kemp, Morrison, & Ross(1994) นำเสนอวิธีระบบในจัดการเรียนการสอนที่ Kemp (1985) ได้ออกแบบไว้ ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ 9 ขั้นตอนคือ
.....1) กำหนดหัวข้อที่จะสอน และเขียนวัตถุประสงค์ทั่วไป
.....2) ศึกษาคุณลักษณะของผู้เรียน
.....3) ระบุจุดมุ่งหมายของการสอนในเชิงพฤติกรรม
.....4) กำหนดเนื้อหาวิชาที่สนับสนุนวัตถุประสงค์แต่ละข้อ
.....5) ทดสอบเพื่อวัดความรู้ ความสามารถของผู้เรียนก่อนที่จะทำการสอน
.....6) เลือกกิจกรรมและแหล่งวิชาการสำหรับการเรียนการสอนเพื่อจะนำเนื้อหาวิชาไปสู่จุดมุ่งหมายปลายทางที่วางไว้
.....7) ประสานงานในเรื่องต่างๆ เช่น การเงิน บุคลากร อาคารสถานที่ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ และดำเนินการไปตามแผนที่กำหนดไว้
.....8) ประเมินผลการเรียนของผู้เรียนว่าบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพียงใด
.....9) พิจารณาดูว่าควรจะได้มีการแก้ไขปรับปรุงแผนการเรียนการสอนให้ดีขึ้นอย่างไร
.....Glasser (1998) ออกแบบวิธีระบบสำหรับจัดการเรียนการสอนให้มี 5 ขั้นตอนคือ
.....1) จุดประสงค์ของการสอน
.....2) การประเมินสถานะของผู้เรียน
.....3) การจัดกระบวนการเรียนการสอน
.....4). การประเมินผลการเรียนการสอน
.....5) ข้อมูลย้อนกลับไปยังแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมา
.....Dick, Carey, & Carey(2001) เสนอรูปแบบสำหรับนำไปใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนที่รู้จักกันในชื่อว่า Dick & Carey model มี 10 ขั้นตอนคือ
.....1) ระบุเป้าหมายของการเรียนการสอน
.....2) วิเคราะห์การเรียนการสอน
.....3) ระบุพฤติกรรมพื้นฐานของผู้เรียน
.....4) เขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
.....5) พัฒนาแบบการทดสอบอิงเกณฑ์
.....6) พัฒนากลยุทธ์ในการเรียนการสอน
.....7) พัฒนาและเลือกสื่อการเรียนการสอน
.....8) พัฒนาและดำเนินการประเมินผลระหว่างการเรียนการสอน
.....9) พัฒนาและประเมินหลังการเรียนการสอน
.....10) ทบทวนการจัดการเรียนการสอน โดย ขั้นตอนนี้จะกระทำเป็นระยะๆ ในแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมา
.....ทิศนา แขมมณี (2545) เสนอรูปแบบการออกแบบการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบที่ผู้ออกแบบต้องพิจารณาตามลำดับขั้น 5 ส่วน คือ
.....1) หลักสูตร ปัญหาความต้องการของผู้เรียน ผู้สอน
.....2) เนื้อหา มโนทัศน์ วัตถุประสงค์
.....3) ยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีในการสอน
.....4) กิจกรรมการเรียนการสอนและสื่อ
.....5) การวัดและประเมินผลการเรียนการสอน

.....ทั้งนี้ ตั้งแต่ส่วนที่ 2 เป็นต้นมา จะต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านต่างๆ อาทิ ผู้เรียน ผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน สถานที่ สื่อ งบประมาณ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ผู้ปกครอง ฯลฯ นอกจากนั้น ยังได้นำเสนอรูปแบบการสอน CIPPA ในการจัดทำแผนการเรียนรู้ด้วย ซึ่งมี 5 ขั้นตอน คือ
.....1. C-construction การสร้างความรู้ของผู้เรียน
.....2. I-interaction กิจกรรมที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์
.....3. P-physical participation การให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางกาย
.....4. P-process learning การเรียนรู้กระบวนการต่างๆ
.....5. A-application การนำความรู้ที่ได้เรียนไปประยุกต์ใช้
.....จากการศึกษารายละเอียดของรูปแบบการออกแบบระบบการเรียนการสอนของนักวิชาการต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ผู้เขียนสามารถสังเคราะห์องค์ประกอบของระบบการเรียนการสอนที่มีการดำเนินงานสัมพันธ์กันเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้ดังนี้คือ
.....1) ความจำเป็นหรือความต้องการในการจัดการเรียนการสอน
.....2) ผู้เรียน
.....3) สภาพแวดล้อม
.....4) ผู้สอน
.....5) จุดมุ่งหมาย
.....6) วิธีการสอน
.....7) เนื้อหา
.....8) แผนการจัดการเรียนการสอน
.....9) เวลาเรียน
.....10) วิธีการเรียนหรือกิจกรรมการเรียน
.....11) ทรัพยากรในการเรียนการสอน
.....12) การควบคุม ตรวจสอบและประเมินผล
.....13) ข้อมูลย้อนกลับ

Instructional SYSTEM Design (ISD): Using the ADDIE Model



แบบจำลอง ADDIE
การออกแบบระบบการสอนโดยใช้แบบจำลอง ADDIE




คำอธิบาย: http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ADDIE/addie.files/image003.gif
การออกแบบการสอนเป็นวิธีการระบบ   เพื่อการวิเคราะห์การออกแบบการพัฒนาการดำเนินการให้เป็นผล และการประเมินผลของสารปัจจัย และกิจกรรมการเรียน
          การออกแบบการสอนมุ่งหมายเพื่อวิธีการสอนที่ยึดถือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มากกว่าวิธีการที่ยึดถือผู้สอนเป็นศูนย์กลาง  จนกระทั่งการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิผลเกิดขึ้นได้นี่หมายความว่าจะต้องควบคุมกำกับการองค์ประกอบการสอนทุกชนิดด้วยผลลัพธ์ทางการเรียนซึ่งได้รับการวินิจฉัยภายหลังการวิเคราะห์ความต้องการ(ความจำเป็น)ของผู้เรียน อย่างต่อเนื่องสมบูรณ์

          ขั้นตอนเหล่านี้บางครั้งก็เหลื่อมซ้อนกันและสามารถทำให้มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้จะให้แนวทางอย่างเป็นพลวัตและมีความยืดหยุ่นสำหรับการสอนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

แบจำลอง ADDIE
เป็นกระบวนการออกแบบการสอนที่กระทำวนซ้ำใหม่  ในที่ผลของการประเมินผลเพื่อพัฒนาของแต่ละขั้นตอนที่ชี้แนะให้นักออกแบบการสอนพิจารณากลับไป ที่ขั้นตอนก่อนหน้า   ผลิตผลขั้นสุดท้ายของขั้นตอนหนึ่งๆ    เป็นผลิตผลเริ่มต้นของขั้นตอนต่อไป
คำอธิบาย: http://lms.thaicyberu.go.th/officialtcu/main/advcourse/presentstu/course/ww521/joemsiit/joemsiit-web1/ADDIE/addie.files/image001.jpg
การออกแบบระบบการสอนโดยใช้แบบจำลอง ADDIE
(Instructional System Design (ISD): Using the ADDIE Model)
การวิเคราะห์(Analysis)
            ขั้นตอนการวิเคราะห์เป็นรากฐานสำหรับขั้นตอนการออกแบบการสอนขั้นตอนอื่นๆ   ในระหว่างขั้นตอนนี้ คุณจะต้องระบุปัญหาระบุแหล่งของปัญหา         และวินิจฉัยคำตอบที่ทำได้    ขั้นตอนนี้อาจประกอบด้วยเทคนิคการวินิจฉัยเฉพาะ  เช่น   การวิเคราะห์ความต้องการ(ความจำเป็น) , การวิเคราะห์งานการวิเคราะห์ภารกิจ    ผลลัพธ์ของขั้นตอนนี้มักประกอบด้วย เป้าหมาย (goal),  และรายการภารกิจที่จะสอน  ผลลัพธ์เหล่านี้จะถูกนำเข้าไปยังขั้นตอนการออกแบบต่อไป

การออกแบบ (Design)
          ขั้นตอนการออกแบบเกี่ยวข้องกับการใช้ผลลัพธ์จากขั้นตอนการวิเคราะห์ เพื่อวางแผนกลยุทธ์สำหรับพัฒนาการสอนในระหว่างขั้นตอนนี้คุณจะต้องกำหนดโครงร่างวิธีการให้บรรลุถึงเป้าหมายการสอน  ซึ่งได้รับการวินิจฉัยในระหว่างขั้นตอนการวิเคราะห์ และขยายผลสารัตถะการสอน
องค์ประกอบบางประการของขั้นตอนการออกแบบอาจจะประกอบด้วยการเขียนรายละเอียดกลุ่มประชากรเป้าหมายการดำเนินการวิเคราะห์การเรียน,          การเขียนวัตถุประสงค์และข้อทดสอบเลือกระบบการนำส่ง และจัดลำดับขั้นตอนการสอน ผลลัพธ์ของขั้นตอนการออกแบบจะเป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับขั้นตอนการพัฒนาต่อไป

การพัฒนา (Development)
          ขั้นตอนการพัฒนาสร้างขึ้นบนบนขั้นตอนการวิเคราะห์และการออกแบบ จุดมุ่งหมายของขั้นตอนนี้คือสร้างแผนการสอนและสื่อของบทเรียนในระหว่างขั้นตอนนี้คุณจะต้องพัฒนาการสอนและสื่อทั้งหมดที่ใช้ในการสอน และเอกสารสนับสนุนต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจจะประกอบด้วยฮาร์ดแวร์ (เช่น เครื่องมือสถานการณ์จำลองและซอฟต์แวร์ (เช่น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน)
การดำเนินการให้เป็นผล (Implementation)

          ขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นผล หมายถึงการนำส่งที่แท้จริงของการสอน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบชั้นเรียน หรือห้องทดลอง หรือรูปแบบใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐานก็ตาม จุดมุ่งหมายของขั้นตอนนี้คือการนำส่งการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  ขั้นตอนนี้จะต้องให้การส่งเสริมความเข้าใจของผู้เรียนในสารปัจจัยต่างๆสนับสนุนการเรียนรอบรู้ของผู้เรียนในวัตถุประสงค์ต่างๆและเป็นหลักประกันในการถ่ายโอนความรู้ของผู้เรียนจากสภาพแวดล้อมการเรียนไปยังการงานได้

การประเมินผล (Evaluation)

          ขั้นตอนนี้วัดผลประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสอน  การประเมินผลเกิดขึ้นตลอดกระบวนการออกแบบการสอนทั้งหมด กล่าวคือ ภายในขั้นตอนต่างๆ      และระหว่างขั้นตอนต่างๆ และภายหลังการดำเนินการให้เป็นผลแล้ว   การประเมินผล    อาจจะเป็นการประเมินผลเพื่อพัฒนา (Formative evaluation) หรือการประเมินผลรวม (Summative evaluation)

          การประเมินผลเพื่อพัฒนา (Formative evaluation):
           
            ดำเนินการต่อเนื่องในภายในและระหว่างขั้นตอนต่างๆ               จุดมุ่งหมายของการประเมินผลชนิดนี้ คือ  เพื่อปรับปรุงการสอนก่อนที่จะนำแบบฉบับขั้นสุดท้ายไปใช้ให้เป็นผล


          การประเมินผลรวม (Summative evaluation): 
     โดยปกติเกิดขึ้นภายหลังการสอน เมื่อแบบฉบับขั้นสุดท้ายได้รับการดำเนินการใช้ให้เป็นผลแล้ว  การประเมินผลประเภทนี้จะประเมินประสิทธิผลการสอนทั้งหมด ข้อมูลจากการประเมินผลรวมโดยปกติมักจะถูกใช้เพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการสอน  (เช่นจะซื้อชุดการสอนนั้นหรือไม่ หรือจะดำเนินการต่อไปหรือไม่)

 การสร้างหรือผลิต นวัตกรรมสร้างความรู้ ต้องมีการดำเนินการ 2 ส่วน คือ
1. การออกแบบ
      การออกแบบเป็นขั้นการวางแผนหรือเค้าโครงร่าง นวัตกรรมสร้างความรู้ ซึ่งในส่วนนี้ ครู จำเป็นต้องดำเนินการเอง หากเปรียบการสร้างตึก ขั้นนี้จะเปรียบกับการเขียนแบบหรือการเขียนพิมพ์เขียว นั่นเอง  โดยในขั้นการออกแบบนี้ ครู ในฐานะเป็น ผู้ออกแบบ (Designer) จะต้องออกแบบองค์ประกอบของนวัตกรรมสร้างความรู้ ให้ครบทั้ง 5 องค์ประกอบ แล้วจึงจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นนวัตกรรมสร้างความรู้ ตามสื่อต่างๆ ที่ต้องการ ซึ่งในขั้นตอนนี้ ครู สามารถออกแบบเองได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้ด้านเทคนิคคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด

2. การพัฒนา
      ขั้นการพัฒนาจะเป็นขั้นที่ลงมือสร้างหรือผลิตนวัตกรรมสร้างความรู้ ในสื่อที่กำหนด ในขั้นนี้หากครูมีความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะพัฒนานวัตกรรม เองได้ โดยโปรแกรมเบื้องต้นที่สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมสร้างความรู้ ได้ เช่น
     • นวัตกรรมการเรียนรู้บนเครือข่าย (เว็บ) โปรแกรมทีสามารถทำได้คือ Dreamweaver, MS FrontPage, Namo Web Editor เป็นต้น  หรืออาจะใช้ โปรแกรมการทำเว็บอื่นหรือระบบจัดการเารรียนรู้ หรือ LMS เช่น Moodle ก็ได้
     • มัลติมีเดีย โปรแกรมที่สามารถทำได้ ได้แก่ Adobe Flash, Swish หรือโปรแกรมที่สามารถนำเสนอได้ทั้งภาพ เสียงและที่สามารถทำให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ได้
     • ชุดสร้างความรู้  โปรแกรมที่สามารถทำได้คือ MS Word, MS Publisher, MS Power Point, Photoshop หรือโปรแกรมอื่นๆ ที่สามารถสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ได้

กรณีที่ครูยังไม่มั่นใจในความสามารถการใช้โปรแกรม อาจติดต่อให้ผู้อื่นมาช่วยในขั้นนี้ได้

ในขั้นการพัฒนานี้ ถ้าเปรียบกับการสร้างตึกแล้ว การพัฒนาก็เปรียบเสมือนการลงมือสร้างตึกตามแบบหรือพิมพ์เขียวเขียนไว้ โดยผู้สร้างจะทำตามแบบทุกประการ ตึกจะออกมาดี สวยหรือไม่สวยสิ่งสำคัญที่สุดคือพิมพ์เขียว  ดังนั้น ในการพัฒนานวัตกรรมสร้างความรู้ สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าการพัฒนานั่นก็คือ "การออกแบบ" นั้นเอง  เช่นนั้นแล้ว  เพื่อให้ผลงานออกมาดี ครูควรใส่ใจให้มากในส่วนของการออกแบบ แลต่ในส่วนของการพัฒนาก็สามารถให้ผู้อื่นมาช่วยได้ ครูก็เพียงแต่เป็นผู้คุมงานก็พอ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น